ศาสนพิธี หมายถึง ระเบียบปฏิบัติทางศาสนาในโอกาสต่างๆ ศาสนพิธีเป็นองค์ประกอบหนึ่งของฟฟศาสนาและเป็นเอกลักษณ์ทางศาสนาซึ่งแต่ละศาสนามีศาสนพิธีที่แตกต่างกัน กล่าวโดยเฉพาะในศาสนาพุทธนั้น ได้จำแนกศาสนพิธีออกเป็น ๒ แบบ คือ
๑. พิธีกรรมที่เป็นพุทธบัญญัติ เป็นพิธีการเกี่ยวกับวินัยสงฆ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ จะต้องปฏิบัติพิธีกรรมนั้นๆ ให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ เช่น พิธีการบวช พิธีการปวารณา พิธีเข้าพรรษาและพิธีการทอดกฐิน เป็นต้น
๒. พิธีกรรมที่พัฒนาขึ้นในท้องถิ่น คือ พิธีกรรมที่พุทธศาสนิกชนในท้องถิ่นต่าง ๆ กำหนดขึ้น โดยมีการผสมผสานขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นให้เข้ากับกิจกรรมทางพุทธศาสนา และได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี
ความเป็นมาของศาสนพิธี
ศาสนพิธีในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น เนื่องจากมีหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงวางไว้แต่ในปีที่ตรัสรู้ เพื่อสาวกจะได้ถือเป็นหลักในการออกไปประกาศพระศาสนา อันเรียกว่า "โอวาทปาติโมกข์" ในโอวาทนั้น มีหลักการสำคัญที่ทรงวางไว้ ๓ ประการ คือ สอนไม่ให้ทำความชั่วทั้งปวง สอนให้อบรมกุศลให้พร้อม สอนให้ทำจิตใจของตนให้ผ่องแผ้ว
โดยหลักการทั้ง ๓ นี้ พุทธบริษัทต้องพยายามเลิกละความประพฤติชั่วทุกอย่างจนเต็มความสามารถ และพยายามสร้างกุศลสำหรับตนให้พร้อมเท่าที่จะสร้างได้ กับพยายามชำระจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ ด้วยการพยายามทำตามคำสอนในหลักการการนี้ เป็นการพยายามทำดี เรียกว่า "ทำบุญ" และการทำบุญนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงวัตถุ คือที่ตั้งอันเป็นทางไว้โดยย่อ ๆ ๓ ประการ เรียกว่า "บุญกิริยาวัตถุ" คือ
๑) ทาน การบริจาคสิ่งของของตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๒) ศีล การรักษากายวาจาให้สงบเรียบร้อยไม่ล่วงพุทธบัญญัติ
๓) ภาวนา การอบรมจิตใจให้ผ่องใสในทางกุศล
บุญกิริยานี้ เป็นแนวให้พุทธบริษัทปฏิบัติตามและทำให้เกิดศาสนพิธีต่างๆขึ้นโดยนิยม ทำบุญ โดยเริ่มต้นมีการรับศีล ต่อไปภาวนาด้วยการสวดมนต์เองหรือฟังพระสวดแล้วส่งใจไปตาม จบลงด้วยการบริจาคทานตามสมควร เพราะนิยมทำบุญเป็นการบำเพ็ญความดีดังกล่าวนี้ จึงเกิดพิธีกรรมขึ้น เมื่อพิธีกรรมใด เป็นที่นิยมและรับรองปฏิบัติสืบๆ มาจนเป็นประเพณี พิธีกรรมนั้นก็กลายเป็นศาสนพิธี
ประเภทของศาสนพิธี
ศาสนพิธีในทางพระพุทธศาสนานั้น มี ๔ ประเภท ดังนี้
๑.กุศลพิธี ว่าด้วยพิธีบำเพ็ญกุศล เป็นเรื่องพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการอบรม ความดีงามทางพระพุทธศาสนาเฉพาะตัวบุคคล คือ เรื่องสร้างความดีแก่ตน เมื่อมีพิธีมากขึ้นจึงจัดเข้าเป็นหมวดเดียวกัน ได้แก่ พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนา พิธีรักษาอุโบสถ
๒. บุญพิธี ว่าด้วยพิธีทำบุญ ได้แก่ พิธีทำบุญเนื่องด้วยประเพณีในครอบครัวของพุทธศาสนิกชน เป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิตของคนไทยทั่วไป ส่วนมากทำกันเกี่ยวกับการฉลอง การต้องการสิริมงคล การตาย ในเรื่องเหล่านี้นิยมทำบุญทางพระพุทธศาสนา เช่น ทำบุญเลี้ยงพระและ ตักบาตร จึงเกิดมีพิธีกรรม ที่ถือสืบๆ กันมาแต่โบราณ โดยแยกเป็น ๒ ประเภท คือ ทำบุญงานมงคลและทำบุญงานอวมงคล
๓. ทานพิธี ว่าด้วยพิธีถวายทาน นิยมบำเพ็ญกันอยู่ทั่วไป การถวายทาน คือ การถวายวัตถุที่ควรให้เป็นทาน ลักษณะการถวายทานมี ๒ อย่าง คือ
๑) ถวายเจาะจงเฉพาะรูปนั้นรูปนี้อย่างหนึ่ง เรียกว่า ปาฏิบุคลิกทาน ไม่จำต้องมีพิธีกรรมอะไรในการถวาย เพราะผู้ถวายเกิดศรัทธา จะถวายสิ่งไร แก่ภิกษุหรือสามเณรรูปใด ก็จัดสิ่งนั้นมอบถวายเฉพาะรูปนั้น เป็นรายบุคคล สำเร็จเป็นทานแล้ว และผู้รับปาฏิบุคคลทาน จะอนุโมทนาอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลเช่นกัน
๒) ถวายไม่เจาะจงรูปใด มอบเป็นของกลางให้สงฆ์จัดเฉลี่ยกันใช้สอยเอง อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า สังฆทาน เป็นการถวายสงฆ์เกี่ยวกับพระสงฆ์ส่วนรวมในวัด จัดเป็นการสงฆ์ไม่ใช่การบุคคลดังกล่าว
๔.ปกิณกะพิธี ว่าด้วยพิธีเบ็ดเตล็ด ได้แก่
๑. วิธีแสดงความเคารพพระ ๒.วิธีประเคนของพระ ๓.วิธีทำหนังสืออาราธนาและทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัย ๔.วิธีอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร อาราธนาธรรมและ ๕. วิธีกรวดน้ำ เป็นต้น