พุทธสาวก
พระสารีบุตร
พระสารีบุตร เดิมชื่อ อุปติสสะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อสารี บิดาเป็นนายบ้าน อุปติสสคาม ใกล้เมืองราชคฤห์ บิดามารดามีฐานะร่ำรวย เหตุที่ท่านได้ชื่อว่า สารีบุตร เนื่องจากเมื่อท่านบวชแล้วเพื่อนพระภิกษุด้วยกันมักเรียกท่านว่า สารีบุตร แปลว่า บุตรนางสารีตามชื่อมารดาของท่านอุปติสสะมีสหายคนหนึ่งชื่อว่า โกลิตะ เป็นบุตรของนายบ้านโกลิตคามซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกัน เที่ยวด้วยกันและศึกษาศิลปวิทยาร่วมกัน วันหนึ่งทั้งสองได้ไปเที่ยวชมมหรสพในเมืองเห็นความไร้สาระของมหารสพเกิดความเบื่อหน่ายในการเสพสุขสำราญจึงปรึกษากันแล้วชวนกันพร้อมกับบริวารบวชเป็นปริพพาชกอยู่ในสำนักสัญชัย เวลัฏฐบุตร เพื่อศึกษาธรรมแต่ยังมิได้บรรลุธรรมพิเศษเป็นที่สุดที่พอใจ จึงนัดหมายกันว่าผู้ใดได้บรรลุธรรมพิเศษก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่ผู้อื่น ขณะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ พระอัสสชิซึ่งเป็นองค์หนึ่งในจำนวนปัญจวัคคีย์ได้เดินทางมาเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและกำลังบิณฑบาตอยู่ อุปติสสะได้พบท่านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงติดตามไปเมื่อพระอัสสชิฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงได้เข้าไปถามถึงข้อปฏิบัติ พระอัสสชิได้แสดงธรรมให้ฟังสั้น ๆ ว่า “สิ่งทั้งหลายย่อมเกิดจากเหตุ จะดับไปก็เพราะเหตุดับ”อุปติสสะได้ฟังเกิดดวงตาเห็นธรรม คือ เข้าใจแจ่มแจ้งสิ้นความสงสัยบรรลุโสดาบัน เมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่พระเวฬุวันจึงนำธรรมที่ตนได้ฟังไปเล่าถ่ายทอดให้โกลิตะผู้เป็นสหายฟัง โกลิตะเมื่อฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกัน จึงไปลาอาจารย์สัญชัย พร้อมทั้งบริวารพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ขอบวชเป็นพระสาวกพร้อมทั้งบริวาร พระพุทธเจ้าประทานบวชให้ทั้งหมด เมื่อบวชแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอบรม บริวารทั้งหมดได้สำเร็จอรหันต์ก่อน ส่วนอุปติสสะ ได้บำเพ็ญธรรมต่อมาอีก 15 วันจึงได้สำเร็จอรหันต์พระสารีบุตรได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุอื่นในทางปัญญา เป็นผู้มีคุณธรรมดีเด่นด้านปัญญา เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนาพระสารีบุตรนิพพานวันเพ็ญกลางเดือน 12 นิพพานก่อนพระโมคคัลลานะ 15 วัน และก่อนพระพุทธเจ้าประมาณ 7 เดือน ก่อนนิพพานท่านได้เทศนากล่อมเกลาจิตใจของบิดามารดาจของท่านให้กลับใจมานับถือพระพุทธศาสนาจนเป็นผลสำเร็จ
คุณธรรมที่เป็นแบบอย่าง
1. เป็นผู้มีปัญญาเลิศ สามารถเข้าใจพระธรรมคำสอนของพรพุทธเจ้าได้อย่างลึกซึ้งและอธิบายให้คนอื่นฟังได้อย่างดียิ่ง แม้เรื่องยากเพียงไรก็ตาม ก็สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย เมื่อมีพระสงฆ์สาวกจะทูลลาไปต่างเมือง พระพุทธเจ้ามักตรัสให้ไปลาและรับฟังโอวาทจากพระสารีบุตรด้วย
2. เป็นผู้มีขันติเป็นเลิศ มีความสงบเสงี่ยมไม่คิดร้ายใคร ไม่โกรธหรือคิดตอบโต้ใคร ๆ เช่น ท่านถูกพราหมณ์คนหนึ่งซึ่งทราบว่า ท่านไม่โกรธและมีความอดทน ย่องไปทุบข้างหลังจนท่านเซไปข้างหน้า ท่านก็ไม่เหลียวมอง ทำให้พราหมณ์เกิดความสำนึกผิดและขอขมาท่าน
3. เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ พระสารีบุตรเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ท่านนับถือพระอัสสชิเป็นพระอาจารย์องค์แรกของท่าน เมื่อรู้ว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศใด เวลาจะนอนท่านจะหันศีรษะไปทางทิศนั้น นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ยอดกตัญญูรู้คุณแม้เพียงเพราะพรามหณ์แก่ชื่อว่าราธะซึ่งเคยตักข้าวใส่บาตรท่านทัพพีท่านก็จำได้และเมื่อราธพราหมณ์ประสงค์จะบวชแต่ไม่มีใครรับรองให้บวช ท่านก็กราบทูลพระพุทธเจ้าขอรับหน้าที่บวชให้
4.เป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน พระสารีบุตร เป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนมาก ถึงแม้จะได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่ามีปัญญาเทียบเท่าพระองค์ ท่านก็ไม่เคยลืมตนท่านอ่อนโยนต่อทุกคน ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวท่านจึงเป็นที่รักของเพื่อนพระสาวกด้วยกันเป็นอย่างมาก
พระมหาโมคคัลลานะ
พระมหาโมคคัลลานะ มีนามเดิมว่า โกลิตะ เป็นบุตรพราหมณ์หัวหน้าหมู่บ้านโกลิดคาม ซึ่งอยู่ใกล็กับหมู่บ้านอุปติสสคาม ท่านมีเพื่อนกินเพื่อนเที่ยวด้วยกัน ชื่ออุปติสสะ ชีวิตในวัยหนุ่มของท่าน ก็เช่นเดียวกับชีวิตพระสารีบุตร คือได้เป็นศิษย์ของอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตร เมื่อเบื่อหน่ายลัทธิคำสอนของอาจารย์สัญชัย ก็พากันแสวงหาแนวทางใหม่ อุปติสสะได้พบพระอัสสชิและฟังธรรมจากท่าน จนบรรลุโสดาปัตติผลจึงนำมาบอกแก่โกลิตะ โกลิตะได้ฟังก็บรรลุเป็นพระโสดาบันเช่นกัน ทั้งสองจึงพากันไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า หลังจากบวชแล้ว โกลิตะได้นามเรียกขานในหมู่บรรพชิตว่า โมคคัลลานะ ท่านได้บำเพ็ญเพียรทางจิต ณ หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม
- หลังจากอุปสมบทได้ 7 วัน ผลพวงจากการได้บรรลุพระอรหตผลของท่าน ก็คือ ท่านได้อภิญญา (ความสามารถพิเศษ) คือ มีอิทธิฤทธิ์ด้วย จึงได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่นในทางมีฤทธิ์มาก และได้รับแต่งตั้งเป็น “อัครสาวก” เบื้องซ้ายคู่กับพระสารีบุตรซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา
คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง
1.เป็นผู้มีความอดทนยิ่ง เมื่อบวชแล้ว พระโมคคัลลานะไปปฏิบัติธรรมอยู่ ณ กัลลวาลมุตตคาม พยายามเพื่อบรรลุผลที่ต้องการแม้ถูกความง่วงครอบงำ ท่านก็พยายามนั่งสมาธิเดินจงกรมไม่ยอมเลิก แสดงให้เห็นถึงการมีความอดทน พากเพียรพยายามสูงยิ่ง แต่ความเพียรเท่านั้นยังไม่พอ ต้องประกอบด้วยความรู้ คือ เพียรอย่างฉลาด พระพุทธเจ้าจึงประทานวิธีการแก้ง่วงให้ท่าน เมื่อปฏิบัติตามแล้ว ท่านก็เอาชนะความง่วงได้ แล้วบำเพ็ญเพียรต่อไปจนได้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
2. เป็นผู้ถ่อมตนยิ่ง พระโมคคัลลานะเป็นพระเถระมีอิทธิฤทธิ์ บางครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระบัญชาให้พระโมคคัลลานะใช้อิทธิฤทธิ์ปราบผู้ควรปราบ เพื่อให้เขาหายพยศแล้วนำเข้าหาพระธรรม แม้จะมีฤทธิ์มาถึงอย่างนี้ ท่านกลับเป็นผู้ถ่อมตนยิ่ง ดังวันหนึ่งพระสารีบุตรเห็นท่านมีใบหน้าผ่องใสจึงซักถาม พระโมคคัลลานะตอบว่าท่านได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ครั้นถามว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ไกลมาก ท่านโมคคัลลานะเหาะไปฟังธรรมหรือ พระโมคคัลลานะตอบว่ามิได้เหาะไปฟัง แต่ฟังด้วยทิพยโสต เมื่อพระสารีบุตรชมเชยว่า พระโมคคัลลานะนี้ช่างมีความสามารถเหลือเกิน พระโมคคัลลานะกลับไม่หลงในคำชมนั้น แต่พูดว่า “ความสามารถของข้าพเจ้า เมื่อเปรียบเทียบกับท่านพระสารีบุตรแล้วเพียงเล็กน้อย ดุจก้อนเกลือเล็กๆ วางไว้ใกล้หม้อน้ำใบใหญ่ฉะนั้น” ความอ่อนน้อมถ่อมตนเช่นนี้ เป็นคุณธรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดี ที่บุคคลควรดำเนินตามเป็นอย่างยิ่ง
3.มีความใฝ่รู้อย่างยิ่ง คุณธรรมข้อนี้ปรากฏตั้งแต่สมัยยังเป็นฆราวาส เมื่อไปดูมหรสพบนภูเขากับอุปติสสะ (พระสารีบุตร) เกิดความเบื่อหน่าย ใคร่จะแสวงหาแนวทางที่ดีกว่า จึงชวนอุปติสสะไปศึกษาอยู่กับอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตร ไมนานท่านก็เรียนจนจบหมดภูมิของอาจารย์ เพราะความใฝ่รู้ของท่าน จึงอยากศึกษาหาความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป และเที่ยวแสวงหาครูอาจารย์อื่นต่อไปจนกระทั่งอุปติสสะได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ มาเล่าให้ฟัง ท่านก็ตั้งใจฟัง จนได้ดวงตาเห็นธรรม ทั้งหมดนี้แสดงถึงความใฝ่รู้ของท่าน จึงทำให้ท่านได้รับความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนสำเร็จพระอรหัตผลในที่สุด
พระเจ้าพิมพิสาร
พระเจ้าพิมพิสาร เป็นพระราชาแห่งแคว้นมคธ มีเมืองหลวงชื่อกรุงราชคฤห์ มีพระมเหสีทรงพระนามว่า เวเทหิ มีพระโอรส ๑ พระองค์ทรงพระนามว่า อชาตศัตรูเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ได้เสด็จออกบรรพชา ได้เสด็จมาพักที่เชิงเขาปัณฑวะ แคว้นมคธ ขณะนั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าว ได้เสด็จไปพบ ทรงพอพระทัยในบุคลิกลักษณะของพระสิทธัตถะเป็นอย่างมาก และได้ทูลเชิญให้ครองราชสมบัติครึ่งหนึ่งแห่งแคว้นมคธ ซึ่งพระสิทธัตถะ ได้ตอบปฏิเสธและชี้แจงถึงจุดมุ่งหมายในการออกบวช พระเจ้าพิมพิสารจึงได้ทรงขอร้องว่า เมื่อทรงสำเร็จธรรมที่ปรารถนาแล้วขอให้เสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์เพื่อโปรดพระองค์บ้าง
เมื่อพระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและได้ทรงเสด็จไปเผยแพร่ประกาศพระศาสนาแล้ว ได้เสด็จไปยังแคว้นมคธ ได้ประทับอยู่ที่
ลัฏฐิวัน ชานเมืองราชคฤห์พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าว ได้เสด็จไปเฝ้าพร้อมกับข้าราชบริพารและชาวเมืองเป็นจำนวนมากพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารพร้อมทั้งข้าราชบริพารพร้อมชาวเมือง หลังจบพระธรรมเทศนาพระเจ้าพิมพิสารได้สำเร็จมรรคผลชั้นโสดาบันทรงประกาศพระองค์เป็นอุบาสกนับถือพระพุทธเจ้าพระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถึงความปรารถนาของพระองค์5 ประการ
แก่พระพุทธเจ้าและความปรารถนาทั้ง 5 ประการนั้น ได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วในวันนี้ความปรารถนาของพระเจ้าพิมพิสาร 5 ประการ
1. ขอให้ได้ทรงเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ
2. ขอให้พระอรหันต์ได้มาสู่แคว้นของพระองค์
3. ขอให้พระองค์ได้เข้าไปนั่งใกล้พระอรหันต์
4. ขอให้พระอรหันต์ได้แสดงธรรมแก่พระองค์
5. ขอให้พระองค์ได้รู้ธรรมของพระอรหันต์
พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมพระภิกษุสงฆ์เสด็จไปรับภัตตาหารที่พระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น
ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงรับอาราธนาในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์พุทธสาวก ได้เสด็จไปทรงรับภัตตาหารที่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร หลังจากเสร็จจากภัตตกิจแล้วพระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถวายอุทยานเวฬุวัน ซึ่งเป็นสวนหลวงแด่พระพุทธเจ้าสำหรับใช้เป็นสถานที่ประทับ พระพุทธเจ้าทรงรับไว้ เพราะฉะนั้น เวฬุวัน หรือสวนไม้ไผ่จึงเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาพระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาจนตลอดพระชนม์ชีพ
คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง
1. ทรงมีน้ำพระทัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จะเห็นได้จากเมื่อพระองค์เสด็จไปพบพระสิทธัตถะ พระองค์ได้ทูลเชิญให้พระสิทธัตถะอยู่ครองราชสมบัติครึ่งหนึ่งแห่งแคว้นมคธ โดยมิทรงหวงแหนหรือตระหนี่แต่ประการใด
2. ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากเมื่อพระองค์สดับพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าแสดงแล้ว ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศตนเป็นอุบาสก นับได้ว่าพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่ประกาศตนเป็นอุบาสกผู้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นพระองค์แรก
3. ทรงเอาพระทัยใส่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระเจ้าพิมพิสารทรงดำริว่าสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าพร้อมพระภิกษุสงฆ์ที่อุทยานลัฏฐิวันนั้น คับแคบไม่เพียงพอเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์หมู่มาก พระองค์จึงได้ถวายพระอุทยานเวฬุวันเป็นสถานที่ประทับแห่งใหม่และพระเวฬุวันจึงได้ชื่อว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาด้วย